บทความทางการแพทย์

โรคสะเก็ดเงินคืออะไร

สะเก็ดเงินเป็นโรคผิวหนังอักเสบเรื้อรังชนิดหนึ่งมีชื่อภาษาอังกฤษว่า “Psoriasis” (โซไรอะซิส) เดิมเรียกว่า เรื้อนกวาง แต่เนื่องจากไม่ใช่โรคติดต่อเหมือนโรคเรื้อน (สำหรับโรคเรื้อนในประเทศไทยนั้น กองควบคุมโรคติดต่อสามารถควบคุมได้แล้ว) จึงเปลี่ยนชื่อจากเรื้อนกวางมาเป็นสะเก็ดเงิน โรคสะเก็ดเงินเป็นโรคที่ไม่ติดต่อ แต่ถ่ายทอดทางพันธุกรรม โรคนี้เกิดจากเหตุปัจจัยหลายปัจจัยประกอบกัน ไม่ได้เกิดจากเชื้อโรค สารเคมี หรือสภาวะทางฟิสิกส์ ที่เป็นพิษต่อผิวหนังโดยตรงแต่เพียงอย่างเดียวแต่เป็นผลจากพันธุกรรมหรือยีนที่ผิดปกติหลายชนิด ร่วมกับปัจจัยทางสิ่งแวดล้อมทั้งภายในและภายนอกร่างกายที่ไม่เหมาะสม มากระตุ้นให้โรคปรากฏขึ้น ซึ่งอาการของโรคที่พบบ่อย คือ ผิวหนังอักเสบเป็นปื้นนูนแดง(Erythematous Plaque) ปกคลุมด้วยสะเก็ดสีเทาเงิน เป็นๆ หายๆ ผู้ป่วยบางรายเป็นเฉียบพลันแล้วผื่นก็หายไป บางรายเป็นผื่นผิวหนังอักเสบเรื้อรัง ปื้นแดงนี้มักพบบริเวณข้อศอก เข่า หลังส่วนล่าง และหนังศีรษะ รวมถึงส่วนต่างๆตามร่างกาย ในกรณีที่ผื่นสะเก็ดเงิน เกิดขึ้นในบริเวณข้อพับต่างๆ เช่น ขาหนีบ รักแร้ อวัยวะสืบพันธุ์ ภายนอก และใต้ฐานเต้านมในผู้หญิง ก็มักจะมีลักษณะต่างจากลักษณะข้างต้นคือ ผื่นจะมีสะเก็ดค่อนข้างน้อย หรือไม่มีเลยและพื้นผิวค่อนข้างมัน ความผิดปกติอื่นๆที่อาจพบได้ คือ ความผิดปกติที่เล็บ ข้ออักเสบ ผู้ป่วยอาจมีอาการผิดปกติของเล็บหรือปวดข้อนำมาก่อน หรือเกิดขึ้นพร้อมๆกับอาการผื่นผิวหนังอักเสบโดยทั่วไปผื่นสะเก็ดเงินมักไม่พบที่บริเวณใบหน้า นอกจากนี้เมื่อผื่น สะเก็ดเงินหายแล้ว จะไม่มีรอยแผลเป็นหลงเหลืออยู่ และน้อยรายมากที่จะทำให้เกิดผมร่วง




ปัจจัยกระตุ้นหรือส่งเสริมให้เกิดโรคสะเก็ดเงิน

แบ่งออกได้เป็น 2 ส่วน คือ ปัจจัยภายนอก และ ปัจจัยภายในตัวผู้ป่วย

ปัจจัยภายนอก

ปัจจัยทางเคมี : สารเคมีที่ผู้ป่วยสัมผัสที่สำคัญ คือ อาหาร ยา สารเคมีในที่ทำงาน สารเคมีที่มีการบันทึกไว้ว่าสามารถทำให้โรคกำเริบ ได้แก่ ยาบางชนิด เช่น ยารักษาโรคจิตประสาทกลุ่ม Lithium ยารักษาโรคมาเลเรีย ยารักษาโรคหัวใจกลุ่ม Beta adrenergic blocking agent ยาสตีรอยด์ชนิดรับประทานและฉีด ยาสตีรอยด์ทั้งชนิดรับประทานและฉีดนั้นจะทำให้อาการของโรคสงบลงในระยะแรกๆที่ได้รับยา แต่เมื่อใช้ในระยะยาวจะส่งผลข้างเคียงสูงมาก เช่น ทำให้เกิดแผลในกระเพาะอาหาร โรคเบาหวานกำเริบ กล้ามเนื้อลีบและอ่อนแรง ความดันโลหิตสูง กระดูกผุ เป็นต้น

ปัจจัยทางชีวะ : คือสิ่งมีชีวิตที่ก่อโรคกับคน ตั้งแต่จุลชีพชนิดต่างๆ ได้แก่ เชื้อแบคทีเรีย เชื้อรา ปรสิตรวมทั้งแมลงต่างๆด้วย สิ่งมีชีวิตเหล่านี้ทำให้เกิดโรคกับผู้ป่วยแล้วส่งผลกระทบทำให้โรคสะเก็ดเงินกำเริบ อาการผื่นผิวหนังอักเสบของโรคจะรุนแรงควบคุมได้ยาก ถ้าผู้ป่วยเกิดโรคติดเชื้อดังกล่าวซ้อนลงบนโรคสะเก็ดเงิน

ปัจจัยทางฟิสิกส์ : การแกะเกา ขูด กด เสียดสี ทำให้ผื่นของโรคสะเก็ดเงินกำเริบ และลุกลามออกไปได้ จึงมักพบผื่นของโรคสะเก็ดเงินบริเวณ ศอก เข่า ก้นกบ เพราะเป็นตำแหน่งที่มีการเสียดสีมากที่สุด

ปัจจัยภายในตัวผู้ป่วย

ผิวหนังเป็นอวัยวะที่อยู่ภายนอกสุดของร่างกาย แต่ไม่ได้ตัดขาดความสัมพันธ์ไปจากอวัยวะภายในอื่นๆของร่างกาย การเปลี่ยนแปลงที่เกิดในร่างกาย เช่นการเปลี่ยนแปลงของระดับฮอร์โมน โรคของอวัยวะภายในต่างๆ เช่นโรคตับ โรคไต จะส่งผลกระทบโดยตรงหรือโดยอ้อมต่อผิวหนังด้วยเสมอ ปัจจัยทางด้านจิตใจก็มีอิทธิพลต่ออาการของโรคสะเก็ดเงิน พบว่า ผู้ป่วยที่เครียด หงุดหงิดง่าย นอนไม่หลับ ผื่นจะกำเริบแดงขึ้น

ที่มา : ภาควิชาตจวิทยา(แผนกโรคผิวหนัง)คณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล
http://inderm.go.th/nuke_802/modules.php?name=Forums&file=viewtopic&t=239